พิธีวางศิลาฤกษ์ คือพิธีวางแผ่นศิลาจารึกเวลา วัน เดือน ปี อันเป็นมงคล ที่เรียกว่า ดวงฤกษ์ แห่งการก่อสร้าง ไว้ ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างอาคารถาวรต่าง ๆ เช่นอาคารทางศาสนา มีโบสถ์ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น อาคารของทางการ มีศาลากลางจังหวัด ศาลาเทศบาล อาคารกองบังคับการของหน่วยทหาร เป็นต้น อาคารของเอกชน มีธนาคาร ภัตตาคาร เป็นต้น จุดประสงค์ของการทำพิธีก็เพื่อให้อาคารเหล่านั้นเกิดความถาวรมั่นคงและผู้อาศัยอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป การทำพิธีวางศิลาฤกษ์เช่นว่านี้ ตามประเพณีโบราณมักนิยมตอกไม้เข็มมงคลด้วย ไม้เข็มนั้น ประกอบด้วยไม้มงคล ๙ ชนิด คือ

ไม้ชัยพฤกษ์ ถือเคล็ดว่ามีโชคชัย

– ไม้ราชพฤกษ์ ถือเคล็ดว่าเป็นใหญ่เป็นโต

– ไม้ทองหลาง ถือเคล็ดว่ามีเงินมีทอง

– ไม้ไผ่สีสุก ถือเคล็ดว่าเกิดความสงบสุข

– ไม้กันเกรา ถือเคล็ดว่าป้องกันภัยอันตรายมิให้เกิดขึ้น

– ไม้ทรงบาดาล ถือเคล็ดว่าบันดาลให้เกิดความร่มเย็น

– ไม้สัก ถือเคล็ดว่าเกิดความศักดิ์สิทธิ์

– ไม้พะยูง ถือเคล็ดว่าพยุงให้เกิดความมั่นคง

– ไม้ขนุน ถือเคล็ดว่าหนุนให้เกิดพลังอานุภาพ

ไม้แต่ละชนิดดังกล่าวทำเป็นท่อนแต่ละท่อนความยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ นิ้วครึ่ง เสี้ยมปลายให้แหลมเล็กน้อยเพื่อตอกลงดินได้สะดวก

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อเป็นสิริมงคลต่อการอยู่อาศัย มีความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง มั่นคงและอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไปตามประเพณีโบราณ

๒. เพื่อให้เจ้าภาพและญาติมิตรได้ร่วมประกอบพิธีศาสนาที่ตนเคารพนับถืออันจะเป็นการส่งเสริมความสามัคคีและเพิ่มพูนบุญกุศลต่อไป

การเตรียมการ (นอกจากพิธีสงฆ์และเครื่องบวงสรวงสังเวย)

– แผ่นศิลาฤกษ์ (ที่วางดวงฤกษ์เรียบร้อยแล้ว) จำนวน ๑ หรือ ๒ แผ่น

– ไม้มงคล ๙ ชนิด ได้แก่

๑. ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคลาภ วาสนาที่ดี

๒. ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง การมีบุญวาสนา จะได้เป็นใหญ่เป็นโต มีคนเคารพ ยกย่อง นับถือ

๓. ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีเงินทองอุดมสมบรูณ์

๔. ไม้ไผ่ศรีสุก หมายถึง จะมีความสุขกาย สุขใจ

๕. ไม้กันเกรา หมายถึง จะมีเครื่องคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ

๖. ไม้ทรงบาดาล หมายถึง การดลบันดาลให้สิ่งดี ๆ บังเกิดขึ้น

๗. ไม้สักทอง หมายถึง การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองให้มั่นคงตลอดไป

๘. ไม้พยุง หมายถึง การพยุงฐานะให้มั่นคง

๙. ไม้ขนุน หมายถึง จะได้รับการอุดหนุนจุนเจือที่ดี

– ค้อนตอกไม้มงคล

– อิฐ เงิน ทอง นาก อย่างละ ๓ แผ่น (รวม ๙ แผ่น)

– แป้งเจิม ๑ ที่

– ทองคำเปลวปิดศิลาฤกษ์ ๓ แผ่น พร้อมขี้ผึ้งหรือกระเทียมทาปิดทอง

– ทรายเสก พอสมควร

– น้ำพระพุทธมนต์ พอสมควร

– ปูนผสม พอสมควร

– ข้าวตอกดอกไม้ พอสมควร

– เหรียญเงิน เหรียญทอง พอสมควร

– กล่องอัญมณี (พลอย ๙ สี) ๑ กล่อง

การปฏิบัติ

พระสงฆ์

– ปิดทองแผ่นศิลาฤกษ์ พรมน้ำพระพุทธมนต์ และโปรยทรายเสกที่หลุมศิลาฤกษ์

ประธานในพิธี

– ไปที่หลุมศิลาฤกษ์ เจิมแผ่นศิลาฤกษ์

– เจิมแผ่นอิฐเงิน ทอง นาก และไม้มงคล

– ยืนหรือนั่งหันหน้าไปทางทิศที่เป็นศรีของวันประกอบพิธี (ดูผนวก ก)

– รับค้อนตอกไม้มงคล (ดูผนวก ข) พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ พราหมณ์เป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์ ลั่นฆ้อง (ถ้ามี)

– รับเกรียงตักปูนที่พิธีกรเตรียมไว้ หยอดหลักไม้มงคล จนครบ ๙ ต้น

– รับอิฐเงิน ทอง นาก แล้ววางเป็นรูปวงกลม ตามคำแนะนำ ของพิธีกร (ดูผนวก ค)

– รับเกรียงตักปูนที่พิธีกรเตรียมไว้ หยอดบนแผ่นอิฐเงิน ทอง นาก จนครบทุกแผ่น

– รับแผ่นศิลาฤกษ์วางบนแผ่นอิฐเงิน ทอง นาก ให้ได้ ศูนย์กลางพอดี

– วางกล่องอัญมณีที่หัวแผ่นศิลาฤกษ์

– โปรยข้าวตอกดอกไม้ลงบนแผ่นศิลาฤกษ์ตามสมควร

ผู้เข้าร่วมพิธี

– โปรยข้าวตอกดอกไม้ที่หลุมศิลาฤกษ์จนหมด

– เสร็จพิธี

หมายเหตุ บางครั้งพระสงฆ์จะเป็นผู้เจิม ปิดทองแผ่นศิลาฤกษ์ แผ่นอิฐเงิน ทอง นาก และไม้มงคลก่อนที่พิธีสงฆ์จะเริ่มขึ้น

แสงแห่งศรัทธา ผู้เนรมิตศาสนพิธีอย่างมืออาชีพ
ผู้บุกเบิกห้างสรรพสินค้าสังฆภัณฑ์ “เจ้าแรกในประเทศไทย”

📌 สามารถปรึกษาเพื่อดูฤกษ์งานได้ฟรีนะคะ
🚩บริการรับจัดงานพิธี ครบถ้วน สมบูรณ์ จบในที่เดียว
🚩รับจัดพิธีทำบุญ และพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกพิธี บริการครบวงจร

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่

🔹ทักไลน์ @satthaline > https://lin.ee/Opo79DK
🔹Facebook Inbox > m.me/satthaofficial
🔹IG : satthaofficial
🔹โทร : 085 659 1459

บริการทั้งหมด

6. พิธีบวงสรวง